ภาพรวม บช.น. ตั้งด่านวันแรก จับเมาแล้วขับ 28 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจร 39 ราย เตรียมสำรวจตั้งด่านช่วงกลางวันช่วงสงกรานต์

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ฐานะดูแลงานจราจร เปิดเผยภาพรวมการตั้งด่านในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า มีการตั้งด่านทั้งหมดจำนวน 50 จุด ด่านเมา 13 จุด ด่านกวดขั้นวินัยจราจร 37 จุด ส่วนผลการจับกุมผู้ขับขี่รถระหว่างเมาสุรา 28 ราย การจับกุมผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.จราจร 39 ราย กรณีดังกล่าวผลการจับกุมยังค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นการเริ่มกลับมาตั้งด่านครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเป็นหลักในกรณีผิดตาม พ.ร.บ.จราจร แต่กรณีขับขี่ขณะเมาสุราทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เมื่อตรวจสอบพบก็ต้องส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนปัญหาอุปสรรคในการตั้งด่านนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสังกัด บช.น. ปฏิบัติตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีการปรับปรุงเน้น 4 เรื่องหลัก 1. มีความโปร่งใส 2. ตรวจสอบได้ 3. ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ 4. ต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติ โดยแต่ละข้อมีรายละเอียดในการปฏิบัติ การนำเทคโนโลยีมาใช้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ การกรอกข้อมูลในระบบแอปพลิเคชัน TPCC (Tralic Police Checkpoint Control) ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการตั้งด่านที่ใดบ้าง มีกล้องซีซีทีวีถ่ายแบบเรียลไทม์ตลอดเวลาการตั้งด่าน สามารถเป็นพยานหลักฐานที่มาทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติก็จะมีกล้องบันทึกภาพติดตัวระหว่างที่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ เดินออกไปจากจุดที่ไกลจากบริเวณที่มีการติดตั้งกล้องไว้ประจำที่ จากการตรวจสอบการปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดี

“จุดตรวจในช่วงเวลากลางคืน อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องแสงสว่างหรือแสงไฟ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติและรถที่เข้ามา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการแสดงสัญญาณแจ้งเตือน โดยมีป้ายสัญญาณไฟแจ้งเตือนตั้งแต่แรกก่อนถึงจุดตรวจ 200 เมตร หรือ 100 เมตร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็มีข้อจำกัดการลากดึงสัญญาณไฟบางครั้งบางจุดแสงไฟไม่เพียงพอทางเจ้าหน้าที่ก็พยายามปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ส่วนต่อมาก็จะเป็นพื้นที่ถนนบางแห่งต้องมีการตรวจสอบปริมาณจำนวนรถ มีการมอบนโยบายควบคู่กันตามข้อสั่งการของ ผบ.ตร. คือการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ซึ่งผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ 28 ราย บางรายมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 123 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ต้องป้องกันอุบัติเหตุด้วยคือคำนึงถึงปัญหาการจราจรหนาแน่น ต้องมีการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรท้ายแถวในห้วงเวลาที่มีการตั้งด่านต้องไปด้วยกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการคัดกรองรถเพื่อไม่ให้ปริมาณรถสะสมท้ายแถวมากเกินไป ตรวจสอบว่ามีรถคันใดพฤติกรรมน่าสงสัย ผู้ขับขี่หน้าแดงหรือมีกลิ่นสุรา เราจะทำการตรวจสอบ นอกนั้นก็จะปล่อยให้รถไหลไปเพื่อให้ปริมาณรถสะสมน้อยลง” รองผบช.น. กล่าว

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวอีกว่า กรณีมีหน่วยงานอื่นร่วมการปฏิบัตินั้น จะมีการเชิญหน่วยร่วมปฏิบัติเข้ามา เบื้องต้นมีอาสาสมัครจราจรมาร่วมปฏิบัติหน้าที่ แต่ชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมตรวจสอบการปฏิบัติการทำงาน รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจของเราเองไปปฏิบัติเท่านั้น หากมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรุงเทพมหานคร ขนส่งมวลชน มาร่วมปฏิบัติก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าด่านมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีระบบให้มีการวัดความพึงพอใจของประชาชนเข้ามาที่จุดตรวจ คิวอาร์โค้ดให้เข้าไปอาจจะใหญ่ไป อาจจะมีการปรับให้เล็กลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการตรวจสอบความพึงพอใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกส่วนหนึ่งและผู้บังคับบัญชาก็ทำการดูได้ นอกจากนี้มีการใช้หลอดเป่าใหม่แกะจากถุงไว้ทุกครั้งเพื่อมั่นใจได้ว่าไม่เอาของเก่ามาให้เป่า

ส่วนกรณีมีการตั้งด่านเพิ่มนั้น อาจจะมีการตั้งด่านช่วงกลางวันเพิ่มเติมแต่ต้องระมัดระวังอาจจะทำให้การจราจรติดขัด แต่จะเริ่มมีการกลับมาตั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งให้ทางสถานีตำรวจนครบาลแต่ละแห่งทำการสำรวจ อย่างน้อยอาจจะมีการกำหนดให้มีการตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรเพิ่มเติมสถานีตำรวจละ 1 จุด คาดว่าจะมีการเริ่มตั้งด่านกลางวัน-กลางคืนได้ประมาณวันที่ 5 เม.ย. นี้ ส่วนด่านตรวจเมาจะให้บก.จร. ดูเป็นหลัก

ขณะที่มีรายงานระบุด้วยว่า สรุปผลการตั้งจุดตรวจฯ จำนวนจุดตรวจทั้งสิ้น 50 จุด (ไม่รวมควันดำ) จุดกวดขันวินัยจราจร 37 จุด จุดตรวจวัดแอลกอฮอลล์ 13 จุด ผลการจับกุม จำนวน 67 ราย ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 1 ราย ขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต 7 ราย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 1 ราย เมาแล้วขับ 28 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 29 ราย จักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย 1 ราย.