
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ฐานะดูแลงานจราจร เปิดเผยถึงการตั้งด่านช่วงกลางวันเพิ่มเติมว่า จะต้องระมัดระวังอาจจะทำให้การจราจรติดขัด แต่จะเริ่มมีการกลับมาตั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งให้ทางสถานีตำรวจนครบาลแต่ละแห่งทำการสำรวจ อย่างน้อยอาจจะมีการกำหนดให้มีการตั้งจุดตรวจวินัยจราจรเพิ่มเติมสถานีตำรวจละ 1 จุด คาดว่าจะมีการเริ่มตั้งด่านกลางวัน-กลางคืนได้ประมาณวันที่ 5 เม.ย. นี้
ส่วนภาพรวมการตั้งด่านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการตั้งด่านทั้งหมดจำนวน 50 จุด ด่านเมา 13 จุด ด่านกวดขันวินัยจราจร 37 จุด โดยผลการจับกุมผู้ขับขี่รถระหว่างเมาสุรา 28 ราย การจับกุมผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.จราจร 39 ราย กรณีดังกล่าวผลการจับกุมยังค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นการเริ่มกลับมาตั้งด่านครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเป็นหลักในกรณีผิดตาม พ.ร.บ.จราจร แต่กรณีขับขี่ขณะเมาสุราทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เมื่อตรวจสอบพบก็ต้องส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
ส่วนปัญหาอุปสรรคในการตั้งด่านนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสังกัด บช.น. ปฏิบัติตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีการปรับปรุงเน้น 4 เรื่องหลัก 1. มีความโปร่งใส 2. ตรวจสอบได้ 3. ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ 4. ต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติ โดยแต่ละข้อมีรายละเอียดในการปฏิบัติ การนำเทคโนโลยีมาใช้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ การกรอกข้อมูลในระบบแอปพลิเคชัน TPCC (Tralic Police Checkpoint Control) ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการตั้งด่านที่ใดบ้าง มีกล้องซีซีทีวีถ่ายแบบเรียลไทม์ตลอดเวลาการตั้งด่าน สามารถเป็นพยานหลักฐานที่มาทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติก็จะมีกล้องบันทึกภาพติดตัวระหว่างที่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ เดินออกไปจากจุดที่ไกลจากบริเวณที่มีการติดตั้งกล้องไว้ประจำที่ จากการตรวจสอบการปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดี