ตม.ชี้แจงอินเดียเข้าไทยทุกรายต้องมีหนังสือรับรองว่าผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนออกเดินทาง

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ สตม. กล่าวถึงกรณีมีข่าวในสื่อออนไลน์ระบุว่า เศรษฐีชาวอินเดียจำนวนมากเดินทางมาประเทศไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

สตม.ขอชี้แจงว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 20 เมษายน 2564 มีชาวอินเดียเดินทางเข้าไทย 602 ราย ซึ่งเป็นอันดับที่ 7ของชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งหมด และทุกคนต้องมีหนังสือรับรองว่าตรวจเชื้อโควิด-19 มาจากประเทศต้นทางแล้ว

ซึ่งการคัดกรองคนไทยและคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เริ่มตั้งแต่ก่อนการเดินทาง โดยสถานทูตไทยจะคัดกรองก่อน
และตามขั้นตอนแล้วสถานทูตไทยในประเทศต้นทาง จะตรวจสอบก่อนว่าคนต่างชาตินั้น ได้ผ่านการรับรองการตรวจเชื้อโควิดมาก่อน โดยต้องมีเอกสารยื่นกับสถานทูต ดังนี้

  1. ผลการตรวจแล็บโควิด PCR test มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง (COVID FREE) เพื่อยืนยันว่า ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19
  2. ต้องมีประกันกรณีติดเชื้อโควิดภายหลัง ทุนประกันวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

จากนั้น สถานทูตจึงจะออกใบรับรองให้เดินทางเข้าไทย หรือ COE (Certificate of Entry) ซึ่งจะมีข้อมูลสถานที่ State Quarantine ในไทยระบุไว้ สำหรับแสดงเมื่อเดินทางเข้าไทยด้วย

อย่างไรก็ตามคนต่างชาตินั้น ต้องอยู่ในเงื่อนไขวีซ่าที่รัฐบาลอนุญาตด้วย เช่น วีซ่าประเภท ทูต เจ้าหน้าที่รัฐ ทำธุรกิจ มีครอบครัวไทย มีถิ่นที่อยู่ในไทย รวมถึง กรณีที่รัฐบาลโดย ศบค. อนุญาตภายใต้ข้อตกลงพิเศษ เช่น กลุ่มนักลงทุน เป็นต้น

ส่วนกรณีเจ็บป่วย ด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อโควิด-19 เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ สามารถขอวีซ่าเข้าไทยได้เพื่อรักษาพยาบาล และเข้ารับการรักษา แบบ HQ หรือ AQ ที่โรงพยาบาลที่รักษา ซึ่งต้องมีหนังสือรับรองจาก รพ. ประเทศต้นทาง ในกรณีที่เดินทางมารักษาตัวในประเทศไทย

ภารกิจของ ตม. ที่เกี่ยวข้อง
มีหน้าที่ช่วยเหลือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ในการช่วยตรวจคัดกรองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อนเข้าประเทศ โดยจะตรวจเอกสารที่สถานทูตออกให้ หรือ COE อีกครั้ง โดย ตม. จะดูเงื่อนไขวีซ่า
ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ และ ตามที่ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ กำหนด เป็นหลัก หากผิดเงื่อนไข ก็ปฏิเสธการเข้าเมือง คนต่างชาติต้องเดินทางกลับ

ลำดับสัญชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 20 เมษายน 2564 เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย อินเดียจะอยู่ลำดับที่ 7 คือ

  1. ไทย 7,176 ราย
  2. จีน 2,148 ราย
  3. ญี่ปุ่น 1,700 ราย
  4. สหรัฐอเมริกา 1,153 ราย
  5. อังกฤษ 617 ราย
  6. เยอรมัน 608 ราย
  7. อินเดีย 602 ราย

โดยการเข้าประเทศตามเงื่อนไข พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของสัญชาติอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 1-20 เม.ย 64 แยกเป็น

  1. เข้ามาทำงาน 426 ราย
  2. เข้ามาภายใต้ข้อตกลงพิเศษ 110 ราย (กลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ เป็นต้น)
  3. มีคู่สมรส บิดามารดาหรือบุตรของคนไทย 30 ราย
  4. นักเรียนนักศึกษาตลอดจนบิดามารดาของบุคคลดังกล่าว 16 ราย
  5. มีถิ่นที่อยู่ในไทยตลอดจนคู่สมรสและบุตร 10 ราย
  6. คณะทูต ผู้แทนรัฐบาล 8 ราย
  7. รักษาพยาบาล โรคที่ไม่ใช่โควิด-19 ในประเทศไทยและผู้ติดตาม 2 ราย