
จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับข้อพิรุธโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ นั้น
พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป. และ พ.ต.อ.พยงค์ เอี่ยมสกุล ผกก.3 บก.ปปป.เดินทางมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ในโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรี พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ชนิดกิ่งเดียวพร้อมติดตั้ง รวมทั้งสิ้น 642,650,000 บาท จำนวน 6,773 ต้น เฉลี่ยต้นละ 94,884 บาท ซึ่งปรากฏชื่อเอกชนรายเดียวผูกขาดรับงานเป็นคู่สัญญาทุกโครงการ
นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะได้ชี้แจงตำรวจ บก.ปปป. ว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว จนกระทั่งเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ป.ป.ช.จังหวัดและภาค เรียกตนไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเสาไฟกินรี ซึ่งตนก็ชี้แจงทุกอย่าง ๆ โปร่งใส มีที่ไปที่มาอย่างชัดเจน โดยเริ่มตั้งแต่การประชาคม ที่ชาวบ้านอยากให้ทาง อบต.ราชาเทวะ พัฒนาหรือสร้างอะไรขึ้นมาในชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้เสนอมา 2 เรื่อง คือ เรื่องการทำถนนให้เป็นคอนกรีตกับเสาไฟฟ้า
แต่ด้วยงบประมาณที่มีจึงทำได้เพียงเสาไฟฟ้าก่อน เมื่อได้ความต้องการของชาวบ้านแล้ว จึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการแผนของโครงการ จากนั้นก็มีการออกแบบเสาไฟฟ้า และเสนอมาที่นายก อบต. ซึ่งราคากลางของเสาไฟกินรีอยู่ที่ต้นละ 9.5 หมื่นบาท ส่วนบริษัทที่ได้จัดทำก็มาจากการวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding อบต.ไม่เคยปิดกั้น บริษัทต้องการเสนอราคา ก็เปิดให้มาแข่งขันกัน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีเอกชนรับงานเพียงรายเดียวในทุกโครงการ เพราะเขาไปแข่งขันกันเอง
ส่วนกรณีเรื่องการติดตั้งเสาไฟถี่ หรือติดชิดกัน ทางคณะกรรมการทีโออาร์เป็นผู้กำหนดว่า แต่ละต้นต้องติดห่างกัน 20 เมตร ซึ่งมาจากมาตรฐานการไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าจะสว่างถึงกันหมด บางคนอาจสงสัยว่าทำไมบางจุดห่างกันไม่ถึง 20 เมตร หรือบางจุด 17 เมตร เพราะอยู่ที่บ้านประชาชน แต่บางต้นห่างกว่า 20 เมตรก็มี ส่วนข้อครหาว่ามีบางจุดไปติดตั้งไม่เหมาะสม เช่น ถนนลูกรัง หรือริมบ่อปลา หมู่บ้านซอยรกร้าง ทางนายก อบต.ราชาเทวะ ชี้แจงว่า พื้นที่ตรงไหนยังไม่พัฒนา หรือเข้าไม่ถึง ตนก็จะไปทำให้ตรงนั้นเกิดการพัฒนา
ด้าน พ.ต.อ.พยงค์ เอี่ยมสกุล ผกก.3 บก.ปปป. เปิดเผยว่า การลงมาตรวจสอบครั้งนี้ มาดูว่าการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องไหม จะต้องนำเอกสารทั้งหมดมาตรวจสอบ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการทุจริต ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ต่อ ซึ่งจะใช้เวลาในดำเนินการพอสมควร เพราะเอกสารค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันได้นำทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ซอยจามจุรี ย่านกิ่งแก้ว และภายใน ซ.ลาดกระบัง 14/1 เพื่อตรวจสอบการติดตั้งเสาไฟกินรี โซลาร์เซลล์อีกครั้งว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการเหมาะสมกับโครงการหรือไม่ พร้อมทั้งมาวัดระยะห่างการติดตั้งเสาไฟกินรีจากสถานที่จริง
ซึ่งจากการตรวจวัดเบื้องต้นพบว่า เสาไฟแต่ละต้นมีระยะห่างไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 10 เมตรถึง 14 เมตร ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่นายก อบต.ราชาเทวะ ที่ชี้แจงว่ามีการติดตั้งเสาไฟระยะห่าง 20-25 เมตร ส่วนการติดตั้งเสาไฟกินรี รอบบึงน้ำทั้งที่ยังไม่มีถนน ประเด็นนี้ก็จะต้องรวบรวมส่งให้ ป.ป.ช.เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่านายก อบต.ราชาเทวะ จะชี้แจงว่า บึงดังกล่าวเตรียมที่จะทำเป็นสวนสาธารณะ จึงนำไฟกินรีไปติดตั้งไว้ก่อนก็ตาม