
ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยดำริของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 จนเสร็จสิ้นโครงการเมื่อมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาในพื้นรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีภาครัฐและเอกชน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด การป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่จุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญกรรม และสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
“จะทำอย่างไร ให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรม สามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่ง เดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน” คำกล่าวของ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บัดนี้ กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นจริงแล้วด้วยมันสมองและสองมือของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตนักสืบผู้เชี่ยวกรำในงานสืบสวน ที่ได้ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยมาเสริมเขี้ยวเล็บในงานสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อขานรับนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
“ทำไมตำรวจต้องทำเอง ในเมื่อกล้องตามท้องถนนมีมากมาย ?” นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา กล้องวงจรปิดของส่วนราชการอื่นและกล้องของเอกชน ไม่ได้ถูกจัดหามาเพื่อตอบโจทก์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับตำรวจ อาทิ ความล่าช้าอันเกิดจากการต้องประสานงาน การมีจุดติดตั้งที่ไม่ได้มุ่งเน้นจุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมหรือ “เส้นทางโจร” และปัญหามุมกล้องที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ต่างจากกล้องในโครงการ ที่ทีมสืบสวนได้เลือกจุดติดตั้งที่มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์ด้วยตนเอง และที่สำคัญจะไม่มีกรณี “กล้องเสีย กล้องหาย กล้องไม่ชัด” ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งอีกต่อไป เนื่องจากตำรวจ จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษากล้องทุกตัวด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ด้วยนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยุคใหม่ที่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเอง จึงเกิดแนวคิดที่ว่า อาหารฟาสต์ฟูดแบบไทย ๆ อย่างข้าวผัดกะเพรา ก็อิ่มอร่อยได้ไม่ต่างจากสเต๊กจานหรู แถมยังปรุงได้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก ดังนั้นกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV จึงไม่จำเป็นต้องใช้ของแบรนด์เนมราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงเกินความจำเป็น อีกทั้งยังมีขั้นการจัดซื้อจัดจ้างที่ยุ่งยาก ไม่ทันต่ออาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่กำลังรุนแรงในปัจจุบัน
โครงการนี้จึงเปรียบเหมือนผัดกะเพราอาหารราคาถูก ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซื้อเอง ปรุงเอง กินเอง โดยการจัดหาอุปกรณ์ระบบกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับลักษณะการทำงาน คุ้มราคา และดูแลรักษาได้ง่าย ด้วยวงเงินงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียง 36 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) จำนวนถึง 9,138 ตัวใน 5,606 จุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพมหานคร ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน ภายใต้ความร่วมมืออันอบอุ่นยิ่งจากเหล่าภาคีภาครัฐและเอกชน โดยได้จัดทำ MOU กับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งกล้องบนเสาไฟฟ้าและเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในส่วนของการเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดก็ได้รับการสนับสนุนซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้แก่ AIS, True, TOT และ กสท.เป็นอย่างดี
“จะเป็นโจรในกรุงเทพยุคนี้ ใจต้องกล้า” เพราะนับตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์จนเป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาอันสั้น สามารถปิดคดี โดยติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็วถึง 99% ของคดีทั้งหมด นอกจากนั้นยังสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด 19 จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกด้วย
ด้วยผลสำเร็จเป็นอย่างดีของโครงการดังที่กล่าวมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยโครงการในระยะที่ 2 โดยจะติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สายเพิ่มเติมอีกกว่าหมื่นตัว เพื่อปูพรมปิดตายช่องว่างอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรม โดยมีแนวคิดเสริมในโครงการ “ฝากกล้องกับตำรวจ” ที่จะติดตั้งกล้องให้กับบ้านพักอาศัยของประชาชนผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนั้นยังจะพัฒนากล้องวงจรปิดให้มีความฉลาดด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่จะสามารถวิเคราะห์บุคคลตามหมายจับ แผ่นป้ายทะเบียนรถ และแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุอาชญากรรม หรือพบวัตถุต้องสงสัยได้โดยอัตโนมัติ ผ่านระบบบริหารจัดการกล้องวงจรปิด หรือ Video Management System ที่สามารถเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดทุกตัว ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเริ่มทดลองดำเนินโครงการในสถานีตำรวจนครบาลต้นแบบ 3 แห่ง ก่อนขยายโครงการไปสู่สถานีตำรวจอื่น ๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีอันทันสมัย ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของรัฐ ที่ต้องหมุนตามให้ทัน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและบังคับใช้กฎหมาย โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชา ความร่วมมือร่วมใจทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังใจและการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน โดยมีสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ ทุกองค์ประกอบที่กล่าวมา เป็นประหนึ่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ซึ่งแตกต่าง แต่ล้วนสำคัญ ที่มาประกอบกัน เพื่อที่จะทำให้ ตำรวจไทยยุคนี้ ได้กลายเป็นตำรวจไทยยุค 4.0 อย่างแท้จริง