
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันข้อมูลว่าเป็นข่าวจริง กรณีที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นเรื่อง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 กลุ่มเสี่ยง สามารถฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ฟรี
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคมจัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้การคุ้มครองดูแลผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของประเทศในลักษณะของการป้องกัน มากกว่าการรักษา และเพื่อลดขั้นตอนการคัดกรอง วินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจัดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในปี 2564 นี้ ได้เปิดให้บริการช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ยังมีผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงจำนวนไม่น้อย ยังไม่ได้มาใช้สิทธิ เข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
สำนักงานประกันสังคม โดยคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จึงออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคสำหรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
ซึ่งประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญให้ผู้ประกันตน ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กรณีฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น สามารถเข้ารับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปี 2564 นี้ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรค จะช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรงในสถานการณ์โควิด- 19 และไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอม และผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ