รองโฆษก ตร. เผยได้รับการยืนยันข่าวจริง กรณี สปสช. เหมาจ่ายดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใช้สิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้านและในชุมชน วันละ 1,000 บาท รวมระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน

บัตรทอง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันข้อมูลว่าเป็นข่าวจริง กรณีที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นเรื่อง สปสช. เหมาจ่ายค่าบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนวันละ 1,000 บาท

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบข้อเท็จจริง กับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยถึงรายละเอียดการจ่ายค่าชดเชยให้กับบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด19 สิทธิ สปสช. หรือสิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI) และในชุมชน (Community Isolation: CI) ซึ่ง สปสช. จะเหมาจ่ายให้กับหน่วยบริการที่ให้การดูแลในอัตราวันละ 1,000 บาท รวมระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน

สำหรับเงินจำนวน 1,000 บาทดังกล่าว จะเป็นการเหมาจ่ายที่รวมค่าบริการดูแล ติดตาม สอบถามอาการผู้ป่วย และค่าอาหาร 3 มื้อของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากกรณีที่หน่วยบริการดังกล่าวไม่สามารถจัดหาอาหารให้ได้ ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้เฉพาะในส่วนของค่าบริการดูแลผู้ป่วย เป็นจำนวน 600 บาทแทน โดยตามหลักแล้ว สปสช. อยากให้หน่วยบริการเป็นผู้จัดอาหารให้กับคนไข้ แต่หากทำไม่ได้ ในส่วนพื้นที่ กทม. สปสช.จะให้ผู้ป่วยสั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่มีการประสานไว้แทน แต่หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด สถานพยาบาลอาจใช้วิธีประสานกับร้านอาหารภายนอก หรือประสานกับชุมชนเพื่อให้ดูแลจัดอาหารส่งให้กับคนไข้ โดยใช้เงิน 400 บาทที่เหลือไปจ่ายให้แทน ซึ่งขอให้เป็นการจัดอาหารรวม 3 มื้อ ที่มีคุณภาพเหมาะสม รับประทานแล้วอิ่ม มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์

ส่วนเรื่องการเบิกจ่าย ทาง สปสช. จะจ่ายให้กับหน่วยบริการตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด โดยมีรอบการจ่ายในทุกสัปดาห์ หลังจากที่หน่วยบริการขอ Authen หรือยืนยันการให้บริการแก่ผู้ป่วย แต่จะไม่มีการจ่ายตรงไปที่ร้านอาหารที่ให้บริการแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนนี้จะให้หน่วยบริการเป็นผู้บริหารจัดการเบิกจ่ายให้กับร้านอาหารหรือชุมชน ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของหน่วยบริการแต่ละแห่ง ซึ่ง สปสช. จะมีการออดิทเพื่อตรวจสอบการเบิกจ่าย โดยโทรศัพท์ติดตามสอบถามผู้ป่วยว่า ได้รับบริการจริงหรือไม่

ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยบริการเก็บเอกสารหลักฐานการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยควรมีสัญญาจ้างกับร้านอาหารเอาไว้ด้วย เช่นเดียวกับในส่วนของร้านอาหาร ที่ควรมีการเก็บข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบด้วยเช่นกัน

ส่วนการออดิทจะมีผลกับการจ่ายชดเชย อย่างขณะนี้ สปสช.มีการจ่ายแบบเหมาจ่ายให้หน่วยบริการ หลังจากที่หน่วยบริการขอ Authen ยืนยันการให้บริการแก่ผู้ป่วย เพื่อใช้ในการดูแลคนไข้ HI-CI รายละ 3,000 บาท ซึ่งหากกรณีที่ติดต่อคนไข้ไม่ได้ ก็อาจไม่ได้เหมาจ่ายให้ แต่ให้หน่วยบริการเบิกจ่ายผ่านระบบ E-Claim โดยส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานเข้ามาภายหลัง แล้ว สปสช.ก็จะจ่ายชดเชยให้อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการบันทึกข้อมูลเข้ามา

และในขณะเดียวกันหากเป็นกรณีของ HI-CI บางแห่งที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ให้การดูแล และใช้งบประมาณของ อปท. ในการจัดหาอาหารให้กับผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งบของรัฐแล้ว ทาง สปสช. ก็จะไม่จ่ายซ้ำซ้อนอีก โดยในกรณีนี้จะจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการที่ให้การดูแลผู้ป่วย เฉพาะในส่วนของการเหมาจ่ายค่าบริการดูแลวันละ 600 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแทน

ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการใดมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติม ทาง สปสช. ได้มี Provider Center ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการรับข้อมูลเพื่อสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าบริการ โดยสามารถติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์ 02-554-0505 ในช่วงระยะเวลา 08.30-16.30 น. (วันและเวลาราชการ) หรือติดตามรับข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือโทรสายด่วน 1330

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ