รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย ปคบ. และ อย. ร่วมกันแถลงผลจับกุมโรงงานลักลอบผลิต ยาแก้ไอชนิดน้ำเลียนแบบ ยี่ห้อจริง สวมรอยส่งขายร้านขายยาในหลายจังหวัดภาคใต้

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมกันแถลงผลจับกุม ผู้ต้องหาลักลอบผลิตยาแก้ไอ เลียนแบบยี่ห้อยาแก้ไอถูกต้องตามกฎหมาย คาดนำไปใช้

หลังตำรวจนำหมายค้นจากศาลจังหวัดภูเก็ต ไปตรวจค้นที่อาคารโกดังไม่มีเลขที่ ภายใน ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ผลิต จัดจำหน่ายและใช้จัดเก็บยาปลอม เบื้องต้นพบของกลาง ยาน้ำแก้ไอปลอม 21,250 ขวด วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ฉลากสติกเกอร์ ขวดเปล่า ฝาขวดที่มีสัญลักษณ์เลียนแบบจำนวนมาก และเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต

พลตำรวจตรีอนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการ ปคบ. เปิดเผยว่า ตำรวจได้เบาะแสจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาน้ำแก้ไอที่ถูกต้องตามกฎหมาย ว่ามีสินค้าเลียนแบบส่งขายตามร้านขายยาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดภูเก็ต จึงทำการสืบสวนหาข่าวจนพบว่า มีโกดังผลิตและจัดจำหน่ายยาอยู่ในจังหวัดภูเก็ต จึงขอศาลออกหมายค้น และเข้าตรวจค้นจับกุมเจ้าของโรงงาน

จากการสอบสวนเบื้องต้น เจ้าของโรงงานให้การรับสารภาพว่า ใช้สถานที่ดังกล่าวผลิตยาโดยไม่ได้ขออนุญาต และส่งตัวยาดังกล่าวไปจำหน่ายตามร้านขายยาในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดทางภาคใต้จริง

เบื้องต้นจึงดำเนินคดีฐาน.ผลิตยาปลอม ขายยาปลอม ผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษสูงสุดจำคุกตั้งแต่ 3 ปีจนถึงตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท

ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สำหรับร้านขายยาที่นำยาแก้ไอดังกล่าวไปจำหน่าย ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง อย. และสาธารณสุขจังหวัด จะเข้าตรวจค้นร้านขายยาและดำเนินการตามกฎหมายทุกรายต่อไป

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีการรั่วไหลของยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของสารไดเฟนไฮดรามีน ออกนอกระบบอยู่บ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามเฝ้าระวังและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง สำหรับยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าว มีประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้ผู้ผลิตจำหน่ายยังไปร้านขายยาได้ไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขายไม่เกินครั้งละ 3 ขวด ซึ่งผู้ที่ได้รับอนุญาตและเภสัชกร มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีซื้อขายยา เพื่อเป็นการป้องกัน การนำยาดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการนำไปผลิตยาเสพติดประเภท 4 คูณ 100