
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) ,พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. พร้อมด้วย คุณคณาวัฒน์ วงศ์แก้ว ผู้แทนคณะทำงานเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนจากคลิปวีดิโอ (VDO) ของวุฒิสภา นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ผู้แทนสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.91 และสถานีวิทยุ จส.100 ร่วมแถลงผลการบังคับใช้กฎหมายจราจรเข้มข้น และเปิดโครงการ “อาสาตาจราจร” โดยมอบรางวัลและเกียรติบัตรให้กับผู้ส่งภาพหลักฐานที่ได้รับคัดเลือก
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี อยากเห็นการจัดระเบียบการจราจรที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ตน ในฐานะ ผอ.ศจร.ตร. กำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ฯ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยเน้นกวดขัน จับกุม ผู้กระทำผิดใน 4 ข้อหาสำคัญ ได้แก่ 1) ขับรถย้อนศร 2) ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 3) ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และ 4) ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว
และหากพฤติการณ์การกระทำผิดตามข้อหาดังกล่าว มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนหรือประชาชนทั่วไป จะมีการดำเนินคดีเพิ่มในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000-10,000 บาท และต้องยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล พร้อมทั้งมีคำร้องขอให้ศาลริบรถของกลาง
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศจร.ตร. ได้เริ่มมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ 15 พ.ย.64 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้มีการระดมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นครั้งแรก ในวันที่ 15-24 พฤศจิกายน 2564 รวม 10 วัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 32,889 ราย โดยแบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ทั่วไป 26,865 ราย รถจักรยานยนต์เดลิเวอรี 4,455 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 1,596 ราย ดังนี้
- ขับรถย้อนศร 20,671 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 17,469 ราย รถจักรยานยนต์เดลิเวอรี 2,283 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 919 ราย
- ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 8,748 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 6,914 ราย รถจักรยานยนต์เดลิเวอรี 1,494 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 340 ราย
- ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า 2,870 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 1,892 ราย รถจักรยานยนต์เดลิเวอรี 669 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 309 ราย
- ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว 600 ราย แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 590 ราย รถจักรยานยนต์เดลิเวอรี 9 ราย และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 1 ราย
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีในข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยอีก 54 ราย ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับจำนวน 41 คดี ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษ และสั่งริบรถจักรยานยนต์ตกเป็นของแผ่นดินอีกหลายกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีการจัดทริป “น้ำไม่อาบ” ของ ภ.จว.เพชรบูณ์ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี และริบรถจักรยานยนต์คันที่ใช้ก่อเหตุด้วย
ส่วนโครงการ “อาสาตาจราจร” พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ ระบุว่า ได้ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ, สวพ.91 และ จส.100 ในการทำโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนร่วมกันทำหน้าที่พลเมืองดีในการตรวจตราการกระทำผิดกฎหมายจราจร โดยเปิดช่องทางให้ประชาชนส่งคลิป กล้องหน้ารถหรือคลิปจากมือถือ ที่บันทึกเหตุการณ์การทำผิดกฎจราจรที่สำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน โดยสามารถส่งคลิปมายัง 4 ช่องทาง ได้แก่ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร., สวพ.91 ,จส.100 และ เพจมูลนิธิเมาไม่ขับ โดย ศจร.ตร. จะรวบรวมข้อมูลส่งต่อไปยังสถานีตำรวจพื้นที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีประชาชนส่งคลิป การกระทำผิดกฎจราจรมายัง ตร. รวมทั้งสิ้น 36 คลิป คลิปที่สำคัญ เช่น คลิปรถจักรยานยนต์ขับรถย้อนศร บนทางด่วนบูรพาวิถี ซึ่งตำรวจได้สืบสวนไปยังผู้ครอบครองรถ จนสามารถติดตามผู้ขับขี่ในวันเกิดเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย 6 ข้อหา ได้แก่
(1) ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต (ปรับ 500 บาท)
(2) ไม่ชำระภาษีประจำปี (ปรับ 500 บาท)
(3) ไม่จัดทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ปรับ 1000 บาท )
(4) ไม่สวมหมวกนิรภัย (ปรับ 500 บาท )
(5) ฝ่าฝืนป้ายเครื่องหมายจราจร (ปรับ 1000บาท )
และ (6) ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย (อยู่ระหว่างฟ้องคดีต่อศาล)
ส่วนกรณีคลิปรถกระบะบรรทุกสิ่งของเต็มคันรถ จนเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทาง บนทางหลวงหมายเลข 3701 พื้นที่ สภ.หนองขาม ได้ดำเนินคดี 2 ข้อหา คือ ไม่จัดให้มีสิ่งป้องกันการตกหล่น (ปรับ 400 บาท) และ บรรทุกสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด (ปรับ 500 บาท)
ซึ่งจากคลิปเหตุการณ์ทั้ง 2 คลิปดังกล่าว ทางคณะพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคลิปตัวอย่างของการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และภาพจากคลิปเป็นพยานหลักฐานสำคัญให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้
มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงมอบเงินรางวัลให้กับเจ้าของคลิปเป็นเงิน จำนวนคลิปละ 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรจาก ศจร.ตร. และ คณะทำงานเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนจากคลิปวีดิโอ (VDO) ของวุฒิสภา
ทั้งนี้ ศจร.ตร. ได้แสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะบังคับใช้กฎหมายตามมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดระเบียบการจราจร เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เพื่อสร้างวินัยการขับขี่ของผู้ใช้รถ ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ประชาชนสามารถใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน