
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT กล่าวถึงกรณี น.ส.กิ๊บฯ (ขอสงวนชื่อสกุลจริง) อายุ 17 ปี นักศึกษา ปวช. วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.นางรอง จว.บุรีรัมย์ นำหลักฐานเบอร์โทรศัพท์มือถือและข้อความแชทผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.นางรอง หลังถูกแก๊งมิจฉาชีพโทรศัพท์ และส่งข้อความทางไลน์มาข่มขู่ กล่าวหาว่าขับรถฝ่าไฟแดง และหนีด่านที่ สภ.เมืองชลบุรี ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยเดินทางไป จว.ชลบุรี อีกทั้งยังหลอกว่า มีชื่อพัวพันกับคดีฟอกเงิน ต้องส่งเอกสารส่วนตัวและบัญชีธนาคารที่มีอยู่ทั้งหมดให้ตรวจสอบ ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งติดตามสืบสวนสอบสวนผู้กระทำผิด แต่ขอให้ประชาชนที่เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าว หรือมีกรณีดังกล่าว ให้ตั้งสติก่อนทุกครั้ง และไตร่ตรองให้ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการติดต่อผู้เสียหายทางไลน์ หรือทางโทรศัพท์ รวมถึงการซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือเข้าไปกดแชร์ กดไลก์ ขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจน ก่อนจะดำเนินการอะไรก็ตาม ต้องหาข้อมูลก่อนทุกครั้ง อย่าเชื่ออะไรเด็ดขาด เพราะอาชญากรรมไซเบอร์มีรูปแบบก่อเหตุหลายรูปแบบ เพื่อหลอกเหยื่อ
จากสถิติคดีทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ (1 มีนาคม 2565) ถึงปัจจุบันพบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความแล้ว 13,015 ราย แบ่งเป็น
- ความผิดเกี่ยวกับการซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสินค้า 4,271 คดี
- หลอกทำภารกิจ (เช่น ให้รีวิวสินค้า, กดไลก์ Tiktok, กดไลก์สินค้า) 1,443 คดี
- หลอกให้กู้เงิน 1,356 คดี
- ทำให้รักแล้วหลอกลงทุน 1,123 คดี
- คอลเซ็นเตอร์ 1,109 คดี
- แชร์ลูกโซ่ 510 คดี
- หลอกยืมเงิน 468 คดี
- ซื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงปก 189 คดี
9.หลอกลวงรูปแบบอื่น ๆ อีก 1,688 คดี
ดังนั้น หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ให้รีบโทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือศูนย์แจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com หรือติดต่อศูนย์ PCT 081-8663000 หรือ สายด่วน บช.สอท. 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและครบวงจร ตลอดจนสร้างการรับรู้ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการในเรื่องนี้ตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ตร. ในช่วงแรก และเน้นย้ำว่า การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ต้องทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปด้วย
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ผบ.ตร. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมี พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาโดยคณะทำงานจะเข้าไปบรรยายให้ความรู้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นเยาวชน เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
โดยขอฝากประชาชนอย่าไปหลงเชื่อใครง่าย ๆ เมื่อเงินยังอยู่กับเรา คิดก่อนโอน อย่าโอนไว อย่าโอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จัก อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทางสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ตั้งสติ รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด